หน้าที่และอำนาจใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญ กับการตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม | ศาลรัฐธรรมนูญ

บทความ

หน้าที่และอำนาจใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญ กับการตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม

24/08/2022
2553

Highlight


  • การที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด มีผลสามประการอะไรบ้าง
  • รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้มีการนำเรื่องการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยองค์กรตุลาการมาบัญญัติไว้ในมาตรา  ๒๕๖ ว่าอย่างไร

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 
  • การออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา  ๒๕๖  (๘)
 


หน้าที่และอำนาจใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญ
กับการตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม

นายศรศวัส  มลสุวรรณ
นักวิชาการคดีรัฐธรรมนูญชำนาญการ
สำนักคดี  ๑  กลุ่มงานคดี  ๒

        
          รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ  เป็นสัญญาประชาคม  มีเนื้อหาสำคัญกำหนดโครงสร้างการปกครองของประเทศ  จัดสรรอำนาจรัฐ  และรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน  โดยจะมีรูปแบบ
ในการก่อตั้งรัฐธรรมนูญ  การจัดทำรัฐธรรมนูญ  การตรารัฐธรรมนูญ  และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  
ที่มีกระบวนการแตกต่างและทำได้ยากกว่ากฎหมายทั่วไป  การที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดมีผล
สามประการ  ได้แก่  กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้  การกระทำอันเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญไม่สามารถกระทำได้  และกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่แตกต่างจากการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายทั่วไป
          การกำหนดให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ยากกว่ากฎหมายระดับอื่น  มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อไม่ให้กระทบกับโครงสร้างการปกครองประเทศ  และสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้โดยง่าย  หรือเกิดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจนกลายเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับเดิม  การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  จึงเป็นหนึ่งในกลไกการป้องกันตัวเองของรัฐธรรมนูญที่หลาย ๆ  ประเทศนำมาใช้  เนื่องจากเมื่อมีข้อจำกัดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้ว  ก็มีความจำเป็นจะต้องมีองค์กรตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  เพื่อที่จะบังคับให้เป็นไปตามข้อจำกัดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น  ในประเทศที่บัญญัติให้มีการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยองค์กรตุลาการแต่ละประเทศได้กำหนดรายละเอียดไว้ทั้งส่วนที่เหมือนและแตกต่างกัน  โดยแบ่งเป็นการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งในทางกระบวนการและทางเนื้อหา  หรืออาจเป็นการตรวจสอบในกรณีใดกรณีหนึ่ง 

          สำหรับประเทศไทยก่อนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่เคยมีการกล่าวถึงการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยองค์กรตุลาการไว้อย่างชัดแจ้ง  จนกระทั่งรัฐธรรมนูญ
ฉบับปัจจุบันได้มีการนำเรื่องการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
โดยองค์กรตุลาการมาบัญญัติไว้
ในมาตรา  ๒๕๖  ดังนี้
          ๑)  ก่อนนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลง
พระปรมาภิไธย  หากมีกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  หรือสมาชิกวุฒิสภา  หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน  มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา  หรือของทั้งสองสภารวมกัน  มีสิทธิเข้าเชื่อกันเสนอความเห็นต่อประธานสภาแห่งตน  หรือประธานรัฐสภาแล้วแต่กรณี 
          ๒)  ยื่นคำร้องว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบในวาระที่  ๓  มีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับข้อจำกัดทางเนื้อหาของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ในมาตรา  ๒๕๕  หรือไม่  หรือ
มีลักษณะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่จะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญ 
มาตรา  ๒๕๖ 
(๘)  หรือไม่  และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ
เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา  ๒๕๖  
          ๓)  ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง
การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม  แม้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  รัฐสภาก็ต้องทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายโดยเคร่งครัด  และแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องอยู่ในเงื่อนไขที่มีความผูกพันกับรัฐธรรมนูญฉบับเดิม  ยึดโยงกับหลักการพื้นฐาน  และเหมาะสม  สอดคล้องกับมติมหาชน  โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้หน้าที่และอำนาจใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญในฐานะ
องค์กรตุลาการที่จะเป็นกลไกในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ  และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน 
ซึ่งหากปราศจากองค์กรตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้ว  ก็อาจเกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กระทบต่อการปกครองของประเทศ  ตลอดจนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้โดยง่าย
 

More Information

 
 
  • อ่านบทความเต็มเรื่อง “หน้าที่และอำนาจใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญ กับการตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม”
  • ติดตามเนื้อหาความรู้เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ กฎหมายรัฐธรรมนูญ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญ ได้ทุกช่องทาง
  • LINE Official Account สนง.ศาลรัฐธรรมนูญ: @occ_th
  • เว็บไซต์ สนง.ศาลรัฐธรรมนูญ: www.constitutionalcourt.or.th
#ศาลรัฐธรรมนูญ #สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
Back to top