ตุ๊กตุ๊กไทยงามหน้า ฟันค่าโดยสาร นทท. 6 พันบาท ขนส่งสั่งปรับ-พักใบขับขี่

ตุ๊กตุ๊กไทยงามหน้า ฟันค่าโดยสาร นทท.ญี่ปุ่น 6 พันบาท ขนส่งสั่งปรับ-พักใบขับขี่  

นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นแชร์ประสบการณ์ โดนตุ๊กตุ๊กไทยฟันราคาค่าโดยสาร 4 คน รวม 6,000 บาท อ้างฝนตก ขนส่งฯลงพื้นที่ตรวจสอบสั่งปรับเงิน พร้อมพักใช้ใบอนุญาตขับขี่

กลายเป็นกระแสงามหน้าของการท่องเที่ยวในประเทศไทยอีกครั้ง หลังมีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ได้แชร์ประสบการณ์โดนโก่งราคาค่ารถตุ๊กตุ๊กกว่า หลังเรียกใช้บริการจากอโศกเพื่อเดินทางไปยังสีลม ก่อนถูกเรียกเก็บค่าโดยสาร 6,000 บาท  

โดยเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 67 นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุนรายหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานถึง 7 ปีแล้ว ได้โพสต์บอกเล่าประสบการณ์สุดเลวร้ายเกี่ยวกับรถตุ๊กตุ๊กไทย ผ่าน X หรือ ทวิตเตอร์ส่วนตัว @peronen ว่า ตนและเพื่อนๆ รวม 4 คน ได้เรียกใช้บริการรถตุ๊กตุ๊กคันหนึ่งเพื่อเดินทางจากบริเวณอโศก ไปยัง ธนิยะ แถวสีลม เมื่อถึงที่หมายก็ถูกเรียกเก็บเงินค่าโดยสาร โดยคิดคนละ 1,500 บาท รวม 4 คน พวกเขาต้องจ่ายค่าโดยสารทั้งหมด 6,000 บาท  

ทั้งนี้ โพสต์ดังกล่าวมีทั้งรูปรถตุ๊กตุ๊กคันที่เกิดเหตุ รวมถึงใบหน้าของคนขับไว้อย่างชัดเจน และได้รับความสนใจบนโลกโซเชียลเป็นอย่างมากโดยมีการกดถูกใจและรีโพสต์ไปแล้ว 1.4 พันครั้ง  

ล่าสุด กรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้ว พร้อมรายงานความคืบหน้าว่า ตามที่มีสื่อสังคมออนไลน์ชื่อ Ryo Ishii โพสต์ข้อความและรูปภาพผ่านแอปพลิเคชัน x ว่า ได้ใช้บริการรถสามล้อรับจ้าง (ตุ๊ก ตุ๊ก) โดยเรียกรถจากสุขุมวิท ซอย 18 ไปยังห้างธนิยะ พลาซ่า (สีลม) โดยผู้ขับรถได้เรียกเก็บค่าโดยสาร จำนวน 4 คน เป็นเงิน 6,000 บาท โดยอ้างว่าฝนตกจึงเรียกราคาดังกล่าว เหตุเกิดเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 เวลาประมาณ 19.00 น. นั้น 

กรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินการตรวจสอบแล้ว พบว่ารถที่ถูกร้องเรียนเป็นรถสามล้อรับจ้างหมายเลขทะเบียน สก 4727 กท มีสหกรณ์สามล้อรัตนโกสินทร์ จำกัด เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ มีนายภูมิมเรศ ผารัตน์ เป็นผู้ขับรถในวันเกิดเหตุ โดยในวันนี้ (14 พ.ค. 67) กรมการขนส่งทางบกได้เรียกตัวผู้ขับรถได้มารายงานตัวเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง โดยผู้ขับรถให้การยอมรับว่า ได้กระทำการตามที่ปรากฏตามสื่อจริง  

กรมการขนส่งทางบกพิจารณาแล้ว เห็นว่าเป็นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 จึงลงโทษดังนี้ 

1. ความผิดเกี่ยวกับการเก็บค่าโดยสารตามมาตรา 22 ประกอบมาตรา 60 เปรียบเทียบปรับ เป็นเงิน 2,000 บาท (สองพันบาทถ้วน)  

2. ความผิดเกี่ยวกับการแต่งกาย ตามมาตรา 5(15) ประกอบมาตรา 58 เปรียบเทียบปรับ เป็นเงิน 500 บาท (ห้าร้อยบาทถ้วน) 

3. พักใช้ใบอนุญาตขับรถ เป็น ระยะเวลา 90 วัน 

4. ส่งตัวเข้ารับการอบรมจิตสำนึกการให้บริการที่ดีแก่ผู้โดยสาร จำนวน 3 ชั่วโมง 

ขอบคุณภาพจาก : X @peronen


คลิปอีจันแนะนำ

ปอนด์ กู้ภัยทรงเอ ส่งศพฟรีทั่วประเทศ! | อีจัน The Series