About
RESOUND

I’m Just Palm

‘ปาล์ม ฐิตาภรณ์’ CG Artist ผู้อยู่เบื้องหลังเทคนิคพิเศษใน Barbie และ Mr. & Mrs. Smith

เรื่อง พัทธนันท์ สวนมะลิ Date 20-05-2024 | View 10
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • คุยกับ ปาล์ม-ฐิตาภรณ์ ภิระบรรณ์ คนไทยในนิวยอร์กที่ขอทำตามฝันก่อนอายุ 30 กับอาชีพ CG Artist ที่ได้ร่วมรังสรรค์เทคนิคพิเศษในหนังเรื่อง Barbie และซีรีส์เรื่อง Mr. & Mrs. Smith

เมื่อพูดถึงหนังสักเรื่องในปี 2023 ชื่อหนึ่งที่ต้องโผล่ขึ้นมาคือ Barbie ของผู้กำกับหญิง เกรตา เกอร์วิก ที่นอกจากจะมอบประเด็นเผ็ดร้อนให้กลายเป็นข้อพูดคุยในโลกโซเชียลแล้ว ยังครองมงกุฎสีชมพูในฐานะหนังทำเงินสูงสุดประจำปีอีกต่างหาก (1,400 ล้านดอลลาร์)

ส่วนในปี 2024 ที่ยังไม่จบลงนี้ ก็มีซีรีส์เรื่องหนึ่งชื่อ Mr. & Mrs. Smith ที่เพิ่งจบลงไปด้วยท่าทีสง่างาม หรูหรา และดูแพง ทั้งตัวนักแสดงนำและสมทบแต่ละคนที่ปรากฏตัว เสื้อผ้าหน้าผม ไหนจะการหยิบยกเรื่องชีวิตแต่งงานขึ้นมาพูดอย่างสมจริง ภายใต้โลกของเหล่าผู้จารกรรมที่ไม่เวอร์วัง แต่มีเสน่ห์เหลือหลาย

ทว่า มีอยู่อย่างหนึ่งที่เราเองก็ไม่เคยรู้มาก่อน นั่นคือเบื้องหลังเทคนิคพิเศษสีชมพูของบาร์บี้ และการถ่ายทำที่ดูเหมือนจะน้อย CGI แต่มากของจริงในคู่สามีภรรยาสมิธนั้น มีคนไทยเป็นหนึ่งในผู้เสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ ปาล์ม-ฐิตาภรณ์ ภิระบรรณ์ หนึ่งใน Visual Effect Artist คนนี้ไม่มีชื่ออยู่ในเครดิตอันยาวเหยียดหลังหนังและซีรีส์จบเลย

เราเลยถือโอกาสนี้ชวนปาล์มมาพูดคุยถึงการทำงานในอุตสาหกรรมเบื้องหลัง เริ่มกันตั้งแต่การเป็นเด็กเชียงรายที่ได้ไปเรียนเชียงใหม่ ลงมาทำงานกรุงเทพฯ และไปอเมริกาด้วยภาษาอังกฤษระดับ 2 จาก 6 ในคลาส ESL (English as a second or foreign language) สู่คนทำ CG สตูดิโอที่นิวยอร์ก ผู้บอกกับเราว่า Mr. & Mrs. Smith ทำ CG ยากกว่า Barbie อีก

ปาล์ม ฐิตาภรณ์

Dreams Come True

เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าเด็กเชียงรายคนนั้นมาเริ่มสนใจเทคนิคพิเศษได้ยังไง

ตอน ม.ปลายในโรงเรียนประจำจังหวัด เราได้เจอกับเพื่อนๆ ที่เขาได้ไปเรียนพิเศษที่กรุงเทพฯ ที่เชียงใหม่ เขาเหล่านั้นจะมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เสมอ เช่น โปรแกรม Flash โปรแกรมวาดรูป จนมีเพื่อนคนหนึ่งเอาโปรแกรมทำ 3 มิติที่มีชื่อว่า MAYA เข้ามา

จากนั้นเพื่อนก็ชวนตั้งชมรมเพื่อจะได้เล่นคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน เราก็เออออห่อหมก แต่อาจารย์ดันบอกว่า เดี๋ยวจะมีตรวจชมรมนะ ตายแล้ว กลัวความแตก ก็เลยต้องมีการเรียนการสอนเฉพาะกิจในชมรม เพื่อนก็สอนเราให้ปั้นแก้วน้ำ แจกัน สำหรับคนวาดรูปไม่ได้ พอไปเจอโปรแกรม 3 มิติที่เห็นทุกๆ องศา สามารถ undo ได้ถ้าทำผิด มันเลยติดตาและติดใจเรามากๆ แต่ก็สร้างข้อสงสัยให้เรามาตลอดเหมือนกัน

ตอนนั้นสงสัยอะไร

ทำไมเรนเดอร์ออกมาแล้วไม่ได้เป็นภาพเคลื่อนไหว

แล้วความสงสัยนี้ได้คำตอบเมื่อไหร่

ตอนอยู่ปี 3 วิชา 3D Animation มันอาจไม่ได้ตอบเราขนาดนั้น แต่พอได้เรียนโปรแกรม 3 มิติ จริงๆ จังๆ ก็รู้สึกว่า อันนี้แหละใช่เลย เรียนแล้วมันอิน ตั้งแต่การคิดตัวละคร วางเนื้อเรื่อง ปั้นฉาก คือเราก็ไม่ได้ปั้นสวยหรอกตอนนั้น

เลยเริ่มฝึกเพื่อเป็น Animator หรือคนที่ทำให้ตัวละครขยับร่างกายได้ แถมเป็นพวกทำได้ทุกตำแหน่งที่เพื่อนไม่ทำ เช่น เขียนบท อัดเสียง ใส่กระดูกตัวละคร จัดแสง ทำให้ได้เรียนรู้ทุก Process พอเรียนจบก็ได้งานที่กรุงเทพฯ เลย

อะไรที่ทำให้อินกับงาน 3D

น่าจะเป็นเพราะมันมีมิติ ความลึกของฉาก เหมือนเราโดนดูดเข้าไปในนั้น

ปาล์ม ฐิตาภรณ์

ตอนอยู่เมืองไทย ได้ทำอะไรบ้าง

ที่ทำงานแรก ปาล์มก็ไม่ได้เป็น Animator นะ ส่วนหนึ่งเพราะเราทำตัวจบเกี่ยวกับ Motion Capture ที่จะเอาการเคลื่อนไหวของคนจริงไปเป็นการเคลื่อนไหวของตัวละครในคอมอีกที เลยได้ทำงานตำแหน่ง Motion Capture + Animator ที่บริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นเขาจะทำ 3D Animatic เพื่อดูการเคลื่อนไหวก่อนที่จะไปถ่ายจริง เป็นการทำให้สตอรีบอร์ดเคลื่อนไหวได้

ทำได้ 2 ปี ระหว่างนั้นก็เรียนไปด้วย มีคอร์สไหนเปิด เราไปหมด เพราะยังติดใจอยู่ว่าอยากเป็น Animator

พอบริษัทที่ 2 ได้ทำตำแหน่ง Lighting Artist ที่ต้องเอาตัวละคร ฉาก มาจัดแสงตามเรื่องราวที่ผู้กำกับอยากได้ ช่วงนั้นได้ทำอนิเมชันซีรี่ส์เรื่อง Paddle Pop ที่เป็นสิงโตขายไอติม และ Talking Tom & Friends ที่เป็นแมวพูดได้ น่าจะเคยๆ เห็นกันตอนเป็นเกมในมือถือ

ที่สุดท้ายคือ Chaya Pictures ที่นี่ได้เริ่มทำเกี่ยวกับพื้นผิว (Texture and Shading) ของวัสดุ ตอนแรกคือการเอาของที่มีในฉากอยู่แล้วมาจัดไฟ แล้วก็เรนเดอร์ออกมา แต่พอได้ทำพื้นผิว ต้องไปตั้งค่าฟิสิกส์ของพื้นผิวนั้นๆ ด้วย เช่น ทำให้ดูเป็นพลาสติก ดูเป็นเนื้อผ้า ดูเป็นเหล็กเก่า เหล็กใหม่ เหล็กมีสนิม

ความฝันอะไรที่ถ้าอยู่เมืองไทยมอบให้คุณไม่ได้

ตอนเราปี 3 มีนักเรียนจากฝรั่งเศสมาสอนคลาสที่ มช.ประมาณอาทิตย์หนึ่ง แล้วเขาบอกว่ามาจาก GOBELINS นะ เป็นมหา’ลัยที่สอนเรื่องศิลปะที่ฝรั่งเศส เราก็ หูว เขาเป็นสถาบันสอนศิลปะมาตั้งแต่ยุคเรเนซองส์เลยนะ น่าไปเรียนมาก แต่ภาษาอังกฤษเรายังไม่ได้เลย ภาษาฝรั่งเศสไม่ต้องพูดถึง การได้ไปทำงานที่ชอบที่ต่างประเทศถือว่าเป็นความฝันของปาล์มก็ได้ค่ะ แบบว่า การทำหนัง Hollywood เราก็เก็บความอยากนั้นไว้ เป็นฝันที่ไม่ได้ลงมือทำ เพราะกลัวว่าทำไปก็คงไม่สำเร็จอยู่ดี

ปาล์ม ฐิตาภรณ์

ตอนไหนที่ตัดสินใจกลับมาทำตามฝัน

ประมาณอายุ 25 เริ่มรู้สึกว่า ไม่ได้การละ ถ้าอายุเกิน 30 ไป เราอาจจะไม่กล้าทำอะไรใหม่ๆ แล้ว เลยเริ่มต้นด้วยการไปเรียนภาษาอังกฤษ เรียน IELTS กับเด็กมัธยมมาเรื่อยๆ ไม่มีใครแก่เกินเรียน (หัวเราะ) จนสอบ IELTS ที่พอจะยื่นพอร์ตได้ เขาต้องการ 6.5 แต่ปาล์มสอบได้ 5.5

พอมีพอร์ต มีคะแนน เราก็ต้องมีที่เรียน ปัญหาคือค่าเรียนแพงมากค่ะ แต่ถ้าเป็นอเมริกาจะมีให้ทำงานด้วยหลังจากเรียนจบ 1 ปี โอเค งั้นเราเลือกอเมริกา น่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้ม

ปาล์มก็ลิสต์มหา’ลัย มีที่เรารู้จักอยู่ 3 ที่ ซานฟราสซิสโก นิวยอร์ก และซาวานนาห์ เราตัดสองที่แรกออกเลย เพราะค่าครองชีพแพงมาก และเป็นความบังเอิญที่พี่ที่ทำงานเก่าจบจาก SCAD (Savannah College of Art and Design) ของซาวานนาห์ แล้วเขาทำ Visual Effect ให้กับ Frozen ปาล์มก็ว้าวสิ โอเค งั้นที่นี่แหละ

โชคดีอีกต่อหนึ่งคือ รุ่นน้องที่รู้จักกันก็สมัครเหมือนกัน แล้วเขาได้ทุน 50% ก็บอกให้เราลองส่งมาสิ ซึ่งต้องเทสต์วาดรูปก่อน เทสต์ภาษาอังกฤษก่อน ถ้าเราไม่ผ่าน เขาก็ไม่ให้ทุนเรา แต่สุดท้ายปาล์มก็ได้ทุนจาก Educator Fellowship เพราะว่าปาล์มมีประสบการณ์การสอน เป็นอาจารย์พิเศษมาประมาณ 4 ปีด้วย ตอนปี 2019 ก่อนโควิด เราก็ได้ไป SCAD ตามที่ตั้งเป้าไว้

แต่ไปถึงวันแรก เราไปไหนไม่ได้ 4 วัน เพราะเจอเฮอร์ริเคน และ Jet lag ไม่เคยเดินทางไกลขนาดนี้ พอได้เข้าไปที่มหา’ลัย ซึ่งอย่างที่ปาล์มบอกว่า IELTS ได้แค่ 5.5 ไม่ถึงขั้นต่ำ ทำให้ต้องไปสอบวัดระดับภาษาอังกฤษก่อน มีทั้งหมด 6 เลเวล ปาล์มได้เลเวล 2 เลยต้องเรียนภาษาอังกฤษ 5 ตัว ใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง เพื่อจะได้ไปเรียนตัวเมเจอร์ปริญญาโทอีก 1 ปีครึ่ง ใช้เวลาทั้งสิ้น 3 ปี

ถ้าเป็นหนังนี่น่าจะเพิ่งจบองก์ 1 (หัวเราะ)

ปาล์ม ฐิตาภรณ์

VFX? Visual Effect Artist? CG? CG Generalist?

เข้าสู่การทำงานได้ยังไง

โชคดีมีเพื่อนคนหนึ่งที่เรียนจบก่อนประมาณ 2 เทอม เขารู้มาว่าทางบริษัทที่ตัวเองทำงานอยู่อยากได้คนจัดแสง เขาเลยเอาพอร์ตปาล์มไปให้เจ้านายดู แล้วอยู่ๆ ก็มีข้อความส่งมาหาปาล์มว่า เพื่อนคุณแนะนำพอร์ตของคุณให้เรา ถ้าได้งานที่นิวยอร์ก คุณจะย้ายมาไหม ถามเราอย่างนี้ เราก็ต้องตอบว่า ย้ายค่ะ สิ (หัวเราะ) หลังสัมภาษณ์งานอาทิตย์หนึ่ง เขาก็ยื่น Job Offer มาให้เลย ตอนนั้นปาล์มกำลังจะเข้าเทอมสุดท้าย ก็รู้สึกว่า งงมาก จริงเหรอคะ ได้งานแล้วเหรอ นี่เราโดนจองตัวไว้แล้วใช่ไหม

เข้าไปทำตำแหน่งอะไร

ปาล์มทำตำแหน่งชื่อว่า CG Generalist ค่ะ ทำทุกอย่างที่เป็นการสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ แต่ของปาล์มจะหนักไปทางจัดแสง ทำโมเดล ทำพื้นผิว แล้วก็เรนเดอร์ออกมา สมมุติว่าเป็นช็อตที่ต้องเติมตึกเติมอะไรข้างหลัง เขามักจะมีโมเดลมาให้อยู่แล้ว ตามที่ผู้กำกับหรือซูเปอร์ไวเซอร์ต้องการ เราสามารถทำพื้นผิว จัดแสง เรนเดอร์แล้วจบงานได้เลย ก่อนส่งต่อให้แผนกถัดไป

ปาล์ม ฐิตาภรณ์

ปาล์ม ฐิตาภรณ์

ปาล์ม ฐิตาภรณ์

แล้วคำว่า Visual Effect หมายถึงอะไรกันแน่

Visual Effect เป็นได้หลายความหมายค่ะ ไม่ว่าจะเป็นประเภทงานที่คนแสดงจริงเข้าไปรวมอยู่กับภาพที่สร้างจากคอมพิวเตอร์ หรือ กระบวนการแก้ไข การทำภาพ บางครั้งอาจจะสับสนกับคำว่า Effect Artist (FX Artist) ไม่มีคำว่า Visual นำหน้า ที่คอยดูแลในเรื่องของการสร้างน้ำ ทำไฟ ทำควัน ทำฝุ่น ทำระเบิด ทำตึกถล่มยันใบไม้ปลิว

ส่วน CG ชื่อเต็ม ๆ CGI (Computer Genereted Imagery) คือการสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ เป็นกระบวนการการสร้างของ สร้างภาพ ใช้ได้ทั้งในงาน Visual Effect นั้นอีกทีนึง ซึ่ง CG ก็สามารถใช้สร้างได้ทั้งในงาน Animation, Game, Virtual Production เลย

เวลาทำหนังจึงไม่ต้องมี CG ก็ได้ แต่น่าจะมี Visual Effect แน่ๆ เช่น ลบสลิง ลบไมค์บูมหรืออะไรก็ตามที่ไม่จำเป็นออกจากฉาก แต่ก็ต้องสร้างในคอมพิวเตอร์ ปรับแต่งเพิ่มความสวยงาม ลบสิว ลบเงาสะท้อน หรือการเกรดแก้สีก็นับเป็น Visual Effect ได้เหมือนกัน

เหมือนที่หนังทอม ครูซ กับโนแลนมักจะบอกว่า No CGI

ตอนแรกปาล์มก็งงนะว่า No CGI ยังไง มันน่าจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกับคำว่า CGI ว่าพูดถึงตอนที่ถ่ายทำ หรือว่าตอนที่เป็น Final Film มันจะมีคลิปที่ชื่อว่า ‘NO CGI is really just INVISIBLE CGI’ ในช่วงต้นคลิปเขาอธิบายว่า ในฉากที่ทอม ครูซ ขับเครื่องบินเนี่ย มันเป็นเครื่องบินของจริง แต่ว่าภาพสุดท้ายที่คนดูเห็นที่ไฟนอลฟิล์ม เครื่องบินไม่ใช่ลำนั้นนะคะ ลำที่ถ่ายเป็นสีเทา และมีจุด Track ที่ใช้สำหรับอ้างอิงแสงและการเคลื่อนที่ เหมือนกับเขาทำ CG เป็นเครื่องบินอีกลำหนึ่ง แล้วเอาไปแทนที่ลำจริงที่ถ่าย เพราะฉะนั้นจะบอกว่า No CGI ก็ไม่ใช่ คือตอนถ่ายเขาอาจจะรู้สึกว่า มันคือเครื่องบินจริง แถมบางช็อตก็อาจจะ No CGI หรือ All CGI ก็ได้

ปาล์ม ฐิตาภรณ์

พูดถึงการถ่ายทำแล้ว ต้องทำยังไงถึงจะเข้าไปอยู่ในโปรเจกต์หนังเรื่องนึงได้

อันนี้ต้องแล้วแต่วิจารณญาณของ Supervisor (หัวหน้างาน) เลยค่ะ ปาล์มไม่แน่ใจว่าแต่ละที่มีการประชุมเลือกคนเข้าไปอยู่ในโปรเจกต์ยังไงบ้าง ถ้าที่ที่ปาล์มอยู่จะมี CG Generalist อยู่ 3 คน ซึ่งไม่ได้มีแค่ 1 โปรเจกต์ที่กำลังรันอยู่ จะมี 3-4 โปรเจกต์ เขาก็จะแบ่งคนไปว่า ถ้าคนนี้ได้ช็อตเยอะแล้วจากโปรเจกต์นี้ อีกโปรเจกต์หนึ่งก็อาจจะเอาช็อตที่ง่ายไปทำ หรืออาจจะเป็นที่ดวงด้วยก็ได้ว่าเขามองว่าเราเหมาะกับโปรเจกต์นี้รึเปล่า

ซึ่งเขาก็จะประชุมกันก่อนว่าเราได้หนังเรื่องอะไรมา เป็นซีเควนส์ไหน แล้วก็จะมีฟุตเทจจากกองถ่าย บางครั้งก็จะมี Blue Screen กับ Green Screen บ้าง หรือว่ามีสลิง Supervisor ก็จะมาบรีฟว่าช็อตนี้ต้องเติมพื้นหลังนะ อาจจะต้องปั้นป่าขึ้นมา อาจจะต้องทำทะเล แต่การทำน้ำจะไม่ใช่แผนกปาล์ม เราจะเป็นคนจัดแสงให้ฉากอีกที อยากได้ทะเล mood ไหน แสงส่องมายังไง เสร็จแล้วแล้วคนประกอบทุกอย่างเข้าด้วยกันจะอยู่อีกแผนกหนึ่ง ชื่อว่าแผนก Compositor เป็นคนที่เอาทุกๆ อย่างมารวมกันให้เป็นภาพสุดท้าย

ปาล์ม ฐิตาภรณ์

เรื่องแรกที่ได้ทำคือเรื่องอะไร

American Horror Story ซีซั่น 11 ค่ะ

รู้สึกยังไงบ้าง

กลัวผีค่ะ (หัวเราะ)

แต่พอได้มาทำก็อ๋อเลย เลือดนี่ไม่ใช่ของจริงเหรอ ขาที่ถูกตัดก็ไม่ใช่ของจริง ช็อตเอามีดแทงก็ต้องทำเลือด CG ปาล์มก็จัดแสงให้ ทุกวันนี้เวลาเห็นช็อตเหล่านั้น จากความกลัวเลยกลายเป็นมัวแต่คิดว่า CG ใช่ไหมนะ (หัวเราะ)

มันทำให้การดูหนังสนุกน้อยลงไหม หรือทำให้ดูละเอียดขึ้น

ไม่ใช่คนที่คิดซับซ้อนขนาดนั้น มักจะถูกสะกดด้วยภาพตรงหน้าเสมอ ถ้างานตรงหน้ามันดูดี ก็แทบจะไม่สนใจอะไรเลย มันจะสนุกไปอีกแบบค่ะ

ปาล์ม ฐิตาภรณ์

แล้วถ้าเป็นงานที่เทคนิคพิเศษออกมาดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่ล่ะ ดูแล้วรู้สึกยังไง

พอเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ ด้วยตารางการฉายของบางโปรเจค ซึ่งต้องทำในเวลาอันรวดเร็ว เลยทำให้คนทำไม่สามารถทำงานได้อย่างประณีต เหมือนหนังจะออกแล้ว งานต้องเสร็จแล้ว

ในมุมของสตูดิโอ ถ้าหากเลื่อนปล่อยหนัง เขาก็คงต้องมีเข้าเนื้อกันบ้าง

ส่วนในมุมของอาร์ทิสต์เอง ต่อให้ฝืนทำต่อก็ไม่ได้เงินเพิ่ม โปรเจคใหม่ก็มารอ

ส่วนคนดูเองก็จะถูกรบกวนด้วย CG ที่ดูไม่สมจริง

มันส่งผลเสียต่อคนในสายงานไหม

ปาล์มว่ามีนะ ถ้ามองเป็นระบบนิเวศ จะรู้สึกว่า การที่เราทำงานแบบนี้ แล้วเรายอมรับมันไปเรื่อยๆ ความละเอียดของงานที่ออกมาก็จะไม่เหลือความประณีตที่เคยทำไว้ตั้งแต่แรก แต่ในมุมของคนที่คุมตารางกับงบประมาณ เขาอาจไม่ได้มองเรื่องนี้ก็ได้ ซึ่งมันก็เป็นอุตสาหกรรมเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่ตรงไหนในนั้น และคนเลือกที่จะใส่ใจตรงไหนมากกว่า

ปาล์ม ฐิตาภรณ์

ปาล์ม ฐิตาภรณ์

I’m just CG Generalist

ในโปรเจกต์หนังเรื่อง Barbie ได้ทำอะไรบ้าง

ช็อตที่ปาล์มทำคือฉากในบริษัท MATTEL ที่ตัวละครนั่งอยู่ในคอกทำงานมืดๆ ทึมๆ ไอเดียหลักของช็อตนั้นคือ การทำงานที่ไม่มีความสุข การทำงานแบบไม่รู้วันไม่รู้คืน การทำงานในที่ที่ใหญ่มากๆ สูงมากๆ ผู้บริหารอยู่สูงเสียดฟ้า แทบจะมองไม่เห็นเพดาน แต่ในการถ่ายทำจริงๆ ไม่สามารถจะสร้างห้องแบบนั้นได้ เขาจึงสร้างของจริงขึ้นมาประมาณหนึ่ง แล้วปิดด้วย Green Screen ซึ่งเราจะมีแผนก Compositor ที่จะลบสีเขียวสีน้ำเงินออกให้ แล้วปาล์มก็สร้างทั้งห้องนั้นขึ้นมาใหม่อีกรอบหนึ่ง ตามด้วยการสร้างคอกที่ทำงานเพื่อให้มันเรียงต่อกันไปเรื่อยๆ ขยายฉากไปเรื่อยๆ จนสุดสายตา ส่วนข้างบนเพดานก็ใส่เป็นหลอดไฟที่โยงลงมายาวมากมาจากข้างบน ขั้นตอนนี้จะเรียกว่า ‘Set Extension’ หรือ ‘การสร้างฉาก ต่อเติมฉาก’

ปาล์ม ฐิตาภรณ์

ฉากนี้ทำยากขนาดไหน

ยากมากเลยค่ะ เพราะต้องวัดสเกลจากของจริงด้วย ถ้าคอกที่อยู่มีขนาด 2×2 ปาล์มก็ต้องไปสร้าง 2×2 ในคอมพิวเตอร์ ถ้าข้างๆ มีอีก 4 คอกก็ต้องคูณไปอีกเรื่อยๆ

แล้วเวลาเขาถ่ายในเซ็ตจริง จะมี 3D สแกนออกมาให้ด้วย เป็นเหมือนการวัดโดยรวมเพื่อให้พอเราใช้ CG สร้างขึ้นมา มันจะเท่ากับของจริง แต่ส่วนข้างหน้าจะยังใช้ของจริงที่ถ่าย

อีกอย่างหนึ่งเราต้องทำพื้นผิวกับทำสีด้วย ถ้าคอกเป็นสีเขียว จะเขียวเหมือนกันหมดทุกอันไม่ได้ บางมุมจะต้องมีตำหนิบ้าง ทำให้ออกมาดูไม่สมบูรณ์

อีกซีเควนส์หนึ่งที่ปาล์มทำคือ ห้องประชุมสีชมพูข้างบนตึก MATTEL แต่ห้องนั้นเป็นห้องจริงนะ

ปาล์ม ฐิตาภรณ์

ปาล์ม ฐิตาภรณ์

พอเป็นห้องจริง ต้องเติมอะไรเข้าไปบ้าง

หลักๆ เขาต้องการการสะท้อนของกระจกจากกำแพงรูปตัวเอ็กซ์ ซึ่งกระจกต้องสะท้อนกำแพงตัวเอ็กซ์นั้นกลับมาอีกที มันเห็นแค่นิดเดียว ต้องกดหยุดเพื่อดูเลยแหละ แต่เบื้องหลังก็ตาแตกอยู่เหมือนกัน เพราะมันสะท้อนกันไปมาเต็มไปหมดเลย

ความยากที่สุดจะเริ่มขึ้นก็ต่อเมื่อกล้องเริ่มเคลื่อนค่ะ เพราะถ้ากล้องจริงกับกล้องในคอมพ์ ไปไม่เท่ากันเมื่อไหร่ จะเกิดอาการลอยทันที หรือมีการเคลื่อนที่ไม่เนียน และเราจะรู้สึกว่ามันไม่ได้มาจากโลกเดียวกัน

ปาล์ม ฐิตาภรณ์

แล้วกับซีรีส์ Mr. & Mrs. Smith ล่ะ ดูเป็นซีรีส์ที่ใช้ของจริงเป็นส่วนใหญ่มากเลย แถมกล้องยังเคลื่อนไหวแทบตลอดเวลา

งั้นในมุมคนดูคิดว่าตรงไหนเป็น CG บ้างคะ

คิดว่าน่าจะเป็นเลือดในบางฉาก

ตรงนั้นน่าจะเป็นสตูดิโออื่นทำค่ะ

อ้าว แล้วได้ทำส่วนไหน

ไฟจากปลายปากกระบอกปืนค่ะ ส่วนมากจะเป็นช็อตที่เรียกว่า ‘Action Element’

มันจะมีปืนที่ทีมงานใช้ถ่ายจริง แต่ไม่มีแสง ซึ่งก็ต้องให้ Effect Artist ไปสร้างแสงไฟจากปากกระบอกปืนขึ้นมา ปาล์มก็จะเอาแสงไฟนั้นมาเป็นแหล่งกำเนิดแสงในช็อตของปาล์ม แล้วเรนเดอร์ออกมาเป็นไฟ และเป็นการสะท้อนของไฟที่โดนปืนอีกที ซึ่งแผนก Compositor ก็จะปรับแต่งก่อนเอาไฟที่กะพริบกับแสงที่สะท้อนตัวปืนมารวมกัน แต่อันนี้ไม่ได้ซับซ้อนขนาดนั้น (หัวเราะ)

ปาล์ม ฐิตาภรณ์

ปาล์ม ฐิตาภรณ์

แล้วอะไรที่ซับซ้อนยิ่งกว่าอันนี้

ช็อตจำพวกกระจกแตก เพราะบางช็อตไม่ใช่กระจกจริง แถมในโลกความเป็นจริง เราไม่สามารถทำให้กระจกแตกแบบสวยงามดั่งใจได้ แต่ถ้าใช้ CG เราสามารถดีไซน์การแตกของกระจกบานนั้นๆ ได้

ซึ่งบางครั้งผู้กำกับอาจจะใส่ใจกับรายละเอียดในฉากไล่ล่าว่า ขับรถมาถึงตรงนี้ กระจกยังแตกไม่เต็มร้อยนะ กระจกยังต้องมีขอบอยู่ แต่พอโดนชนอีกครั้ง กระจกอาจจะแตกไปหมดเลย มันเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ คนดูอาจจะไม่ทันสังเกต แต่ผู้กำกับบอกมาเลยว่า กระจกแตกระดับ 1 ระดับ 2 ระดับ 3 ระดับ 4 เป็นการทำงานที่มันมาก (หัวเราะ)

มีมากกว่ากระจกอีกไหม

มีแน่นอน รถชนแบบนี้รอยยุบไม่สวย เปลี่ยนรอยยุบใหม่ แต่มันถ่ายไม่ได้แล้วไง เราก็ต้องปั้นให้ท้ายรถยุบตามดีไซน์ที่ผู้กำกับต้องการ เสร็จแล้วก็เอารอยยุบที่สร้างขึ้นไปติดกับรถในฟุตเทจ ปาล์มก็ต้องจัดแสงให้ตรงกับรถคันนั้น สมมุติรถชนที่ตลาด ปาล์มก็ต้องเอาแสงของตลาดมาดูว่า แสงอาทิตย์อยู่บริเวณไหน ความสว่างเท่าไหร่ สีอะไร ซึ่งมันต้องเหมือนจริงมากๆ เพื่อให้การสะท้อนของรอยยุบที่เราทำมีความใกล้เคียงกับแสงจริงที่สุด

ตัววัสดุก็ต้องเหมือนจริงด้วย ถ้าวัสดุเงา มันก็ควรจะต้องเงาไปทั้งรถ แต่ส่วนที่ยุบ อาจจะต้องมีรอยครูด เราจึงต้องทำให้มันยับจริงๆ ทั้งตัวรูปทรงและวัสดุ จากนั้น Compositor ก็จะเอารอยยุบไปรวมกับฟุตเทจที่ถ่ายมา แล้วก็รีทัชตามที่ผู้กำกับต้องการ มันยาก เพราะมีการเคลื่อนที่ของกล้อง การเคลื่อนที่ของรถ การเคลื่อนที่ของคนวิ่งตัดหน้ารถ หรือมีปืนยิงมาโดนท้ายรถที่ยุบอีก

ถ้าให้สรุป ความยากของคนทำงานสายนี้คืออะไร

(ครุ่นคิด) การทำให้เป็นไปตามที่ผู้กำกับต้องการ เราต้องอ่านจินตนาการของคนออกแบบให้ได้ แค่นั้นเลย

ปาล์ม ฐิตาภรณ์

Even Mr. & Mrs. Smith still need a Basic.

คุณมีความเห็นยังไงกับการใช้ AI แทนการจ้างศิลปิน

มันอาจจะเลียนแบบสไตล์ได้ก็จริง แต่ในการทำงานตรงนี้ ในเวลานี้ มันยังไม่สามารถมาแทนที่เราได้ 100% แต่ล่าสุดที่เเห็นของโปรแกรม Adobe Premier Pro ที่เลือก remove ของออกได้ อันนี้ก็ถือเป็นการทำ Visual Effect ได้แล้วนะ เราว่ามันน่าจะยังพัฒนาไปได้อีก

ดูๆ ไปแล้วรู้สึกมีความน่ากังวลในการถูกแย่งงานไหม

คิดว่าน่ากังวลค่ะ เพราะถ้ามันทำได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากจริงๆ การที่ออฟฟิศจะจ้างคน 1 คน หรือ 5 คนในทีมเพื่อทำช็อตนี้ช็อตเดียว เขาอาจจะจ้างแค่ 1 คน แล้วเสริมด้วย AI แทน ซึ่งทุกคนก็ผวาอยู่เหมือนกันนะ แต่มันก็ยังกึ่งๆ อยู่ว่า มันจะมาช่วยเรา หรือจะมาทำให้อะไรๆ ในเชิงความคิดสร้างสรรค์แย่ลงกันแน่ แต่มันเป็นเทคโนโลยี เราก็ห้ามอะไรไม่ได้ ทำได้แค่ปรับตัว และเรียนรู้ที่จะใช้งานมัน เพื่อที่ว่ามันอาจจะช่วยลดงานเราในอนาคต พวกงานที่ไม่ต้องใช้การอะไรที่ซับซ้อน มันอาจจะลบสลิงออกแทนเราง่ายๆ เลยก็ได้

ในยุคที่ AI เข้ามาสร้างความผวาให้เรา อยากฝากอะไรถึงคนที่อยากมาทำงานสายนี้บ้างไหม

ปาล์มว่ายังไงพื้นฐานก็สำคัญ ยังไงการเรียนรู้ด้วยข้อผิดพลาดก็สำคัญกว่าการทำอะไรแล้วสำเร็จมาตลอด เคยได้ยินมาตั้งแต่เด็กว่า ถ้าจะไปให้สูง ฐานก็ต้องแน่นพอที่จะรองรับ ถ้าเกิดไม่แน่นพอ ก็อาจไปได้ไม่ไกลเท่าที่เราอยากไป


link ที่ Office publish
https://awardsradar.com/2024/01/02/interview-barbie-vfx-supervisor-josephine-noh-breaks-down-the-mattel
https://www.postmagazine.com/Press-Center/Daily-News/2024/-I-Barbie-I-Inside-FuseFXs-VFX-contributions.aspx