ทำไม? ปูติน ‘เปลี่ยนม้ากลางศึก’ ตั้งรัฐมนตรีกลาโหมเป็น นักเศรษฐศาสตร์

วลาดิมีร์ ปูติน สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซีย สมัยที่ 5 เมื่อ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นตามหลังมาก็คือ คณะรัฐมนตรีรัสเซียทั้งคณะลาออกจากตำแหน่ง เปิดทางให้ผู้นำ “ใหม่” สรรหาคนที่เหมาะสมเข้ามารับหน้าที่ตามความต้องการ

นั่นถือเป็น “ธรรมเนียมปฏิบัติ” ที่ไม่น่าแปลกใดๆ และไม่น่าแปลกใจอีกเช่นกันที่คณะรัฐมนตรีเกือบทั้งคณะ ได้รับการแต่งตั้งเข้ารับหน้าที่ดังเดิม

ที่น่าสนใจและชวนสะดุดใจที่สุดก็คือ มีรัฐมนตรีคนเดียวเท่านั้นที่ถูกปรับพ้นตำแหน่งเมื่อ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา นั่นคือ เซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหม คนที่รับผิดชอบในปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครนมาตั้งแต่เริ่มแรกในปี 2022

ชอยกูถูกปลดพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม แต่ไม่ได้หลุดออกจากวงจร เขาถูกแต่งตั้งให้เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงของรัสเซีย แทนที่ นิโกไล แพทรูเชฟ อดีตหัวหน้าสำนักงานข่าวกรองเอฟเอสบี องค์กรที่เข้ามาแทนที่เคจีบี ในยุคสหภาพโซเวียต

คนที่ถูกเลือกให้เข้ามาทำหน้าที่รัฐมนตรีกลาโหมแทนชอยกู ที่ดำรงตำแหน่งนี้มา 12 ปีเต็มๆ คือ แอนเดร เบลูซอฟ ซึ่งเป็นเช่นเดียวกันกับชอยกู นั่นคือ เป็น “คนวงใน” ของปูตินมาช้านาน ไม่เคยเป็นทหาร ไม่ใช่ทหารเช่นกัน แต่ที่แตกต่างอย่างใหญ่หลวงกับชอยกู ก็คือ เบลูซอฟ เป็นนักวิชาการ แถมเป็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์อีกต่างหาก

คำถามก็คือว่า ทำไม? ทำไมปูตินถึงต้อง “เปลี่ยนม้ากลางศึก” แล้วทำไมต้องเป็นนักเศรษฐศาสตร์?

แอนเดร เบลูซอฟ (Photo by Vyacheslav Prokofyev / POOL / AFP)

ริชาร์ด ไวตซ์ ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการวิเคราะห์ทางทหารและการเมืองของสถาบันฮัดสัน ในสหรัฐอเมริกา ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ที่ผ่านมามีข่าวลือมาระยะหนึ่งแล้วว่า ชอยกูอาจถูกปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม

ส่วนหนึ่งเกิดจากความกังวลในเรื่องการปฏิรูปกองทัพที่ไม่ขยับคืบหน้าไปเท่าที่ควร

ผสมกับการที่กองทัพรัสเซียสร้างผลงานได้ย่ำแย่ไม่น้อยในช่วงสองสามเดือนแรกของการบุกยูเครน

แล้วก็เหตุการณ์การก่อกบฏอันลือลั่นของ เยฟเกนี พริโกซิน กับกลุ่มวากเนอร์ เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าพุ่งเป้าไปที่ชอยกูโดยตรง

นิโกลา ซูนูรอฟสกี้ ผู้อำนวยการโครงการทหารประจำศูนย์ราซุมคอฟ องค์กรวิชาการอิสระในยูเครน เชื่อว่าเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นครั้งใหญ่เมื่อไม่นานมานี้ที่ ติมูร์ อิวานอฟ ผู้ช่วยของชอยกู ถูกกล่าวหาว่ารับ “สินบน” มูลค่าสูงถึง 12 ล้านดอลลาร์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลดครั้งนี้อยู่ด้วย

แต่ อเล็กไซ เกตแมน นักวิเคราะห์ด้านการทหารชาวยูเครนกลับตั้งข้อสังเกตไว้ว่า กรณีของชอยกูไม่น่าและไม่ควรถูกมองว่าเป็นการ “ปลด” หรือ “ลงโทษ” ใดๆ ทั้งสิ้น

สิ่งที่ยืนยันเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดีก็คือ ชอยกูยังคงถูกแต่งตั้งให้รับตำแหน่งสำคัญต่อไป ไม่ได้ถูกส่ง “เข้าคุก” หรือให้ไป “พักผ่อนตามที่สมควรได้รับ” ที่ถือกันว่าเป็นการลงโทษคนใกล้ชิดในสไตล์ของปูตินที่มีให้เห็นกันบ่อยๆ

ดังนั้น เหตุผลเดียวที่ทำให้ปูตินดึงชอยกูออกมาจากตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมก็เพราะเห็นว่าชอยกูไม่เหมาะสมหรือไม่มีความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนี้อีกต่อไปแล้วเท่านั้น

ไวตซ์ระบุว่า เชื่อว่าในความคิดของปูตินยามนี้ กองทัพรัสเซียกำลัง “ทำได้ดี” ในยูเครน แต่ในเวลาเดียวกันก็เห็นได้ชัดเจนว่าสงครามครั้งนี้คงกินเวลาต่อเนื่องไปอีกหลายปี

และปูตินต้องการใครสักคนที่รู้เรื่องและมีผลงานที่ดีทางด้านเศรษฐกิจเข้ามาทำหน้าที่ควบคุมองคาพยพของกองทัพ

เพราะถ้าหากว่าสงครามยูเครนกลายเป็นสงครามยืดเยื้อนานหลายปี จำเป็นต้องมีผู้ขับเคลื่อนทรัพยากรเท่าที่มีออกมารองรับให้สงครามระยะยาวที่ว่านี้ “เป็นไปได้” ขึ้นมา

ซูนูรอฟสกี้เห็นพ้อง เขาเชื่อว่าปูตินคงคาดการณ์ว่าศึกยูเครนจะกลายเป็นสงครามยืดเยื้อและต้องการใครสักคนที่สามารถเตรียมการเศรษฐกิจให้รองรับสถานการณ์ดังกล่าวได้ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องไม่ให้ต้นทุนแพงระยับของสงครามยูเครนทำให้เศรษฐกิจของประเทศ “ล้มละลาย”

แอนเดร เบลูซอฟ คือคนที่ว่านี้

 

เบลูซอฟทำงานวิชาการมาต่อเนื่องยาวนานมากในภาคเศรษฐกิจ รากเหง้าดั้งเดิมของเขาอยู่ที่สถาบันคณิตศาสตร์และเศรษฐศาสตร์กลาง (Central Economic and Mathematical Institute) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแกนนำสำคัญแกนหนึ่งในการก่อรูปรังสรรค์ “มาตรฐาน” ใหม่ให้กับเศรษฐกิจของรัสเซียมาตั้งแต่กลางยุคทศวรรษ 70

เบลูซอฟก้าวขึ้นรับตำแหน่งระดับสูงที่สถาบันแห่งนี้ในราวกลางทศวรรษ 80 เข้าร่วมสังฆกรรมกับปูตินครั้งแรกในปี 1999 ก่อนหน้าที่ปูตินจะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลานั้นเพียงไม่กี่เดือน

หลังจากนั้นก็ประสบความสำเร็จมาโดยตลอด จนกลายเป็น “ที่ปรึกษา” ด้านเศรษฐกิจของปูตินในเวลาต่อมา และเป็นรองนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 1 รับผิดชอบในการดูแลด้านการเงินและเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่ปี 2020 เรื่อยมา

ที่น่าสนใจก็คือ เบลูซอฟไม่เคยมีประวัติเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น ไม่มีเส้นสายโยงใยกับกลุ่มผู้นำธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมที่ทรงอิทธิพลของรัสเซียอีกด้วย

นักวิเคราะห์เห็นตรงกันว่า เบลูซอฟคงปล่อยภารกิจสงครามให้บรรดานายพลในกองทัพรับผิดชอบไป ตนเองจะหันไปรับผิดชอบในการทำให้แน่ใจว่าอุตสาหกรรมทหารของกองทัพสามารถเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพขึ้นเพียงพอต่อการผลิตอะไรก็ตามป้อนให้กองทัพตามที่ต้องการโดยไม่ทำให้ประเทศชาติต้องล้มละลายไปเพราะงบประมาณของสงคราม

แต่ให้เป็นไปในทางตรงกันข้าม นั่นคือ กลายเป็นเครื่องจักรสำคัญที่จะช่วยผลักดันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของรัสเซียโดยรวมไปพร้อมกันด้วย

อเล็กไซ เกตแมน เห็นพ้องกับนักวิเคราะห์อีกหลายคนที่ระบุว่า ด้วยการแต่งตั้งเบลูซอฟเป็นรัฐมนตรีกลาโหมในครั้งนี้

ปูตินกำลังบอกกับทั้งโลกว่า รัสเซียพร้อมแล้วที่จะทำสงครามที่ยืดเยื้อยาวนานที่มีต้นทุนแพงระยับนี้