‘อุซเบกิสถาน’ เจอ ‘วิกฤติดินเค็ม’ ผลผลิตลดฮวบ กระทบยอดส่งออก ‘ฝ้าย’ 80%

‘อุซเบกิสถาน’ เจอ ‘วิกฤติดินเค็ม’ ผลผลิตลดฮวบ กระทบยอดส่งออก ‘ฝ้าย’ 80%

“อุซเบกิสถาน” กำลังประสบปัญหา “ดินเค็ม” ในพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะ “ข้าวสาลี” และ “ไร่ฝ้าย” ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศ

KEY

POINTS

  • ปัญหาดินเค็มส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมเป็นอย่างมาก ทำให้จำนวนผลผลิตลดลงได้มากถึง 15-20% ความเค็มในดินยังคงเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้นการเกษตรของอุซเบกิสถานจึงอยู่ในสถานะที่ “อันตรายมาก”
  • อุซเบกิสถานเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และปัจจุบันมีแหล่งน้ำจืดเหลืออยู่ในประเทศไม่มากนัก ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องใช้น้ำที่ใช้แล้วจากระบบระบายน้ำซึ่งมีค่าความเค็มสูงมาใช้ในการเกษตร
  • เกษตรกรไม่มีความรู้เพียงพอในการรับมือกับปัญหาดินเค็ม จนทำให้พื้นที่เพาะปลูกต้องสูญเสียผลผลิตเพิ่มขึ้นทุกปี แม้ว่าภาครัฐจะดำเนินนโยบายเกษตรกรรมเชิงรุกเพื่อจัดการกับดินก็ตาม

ดินเค็มทำให้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อุซเบกิสถานส่งออกฝ้ายไปยัง “บังกลาเทศ” ซึ่งเป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นประเทศคู่ค้าผ้าฝ้ายรายใหญ่มายาวนาน ลดลงไปถึง 80% ทำให้เอกชนต้องรวมตัวกันหาทางแก้ไขปัญหาโดยร่วมทำงานกับองค์การอาหาร และการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO

 

“ดินเค็ม” กระทบเศรษฐกิจรุนแรง

ดิออร์ จูเรฟ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการเกษตรภาคใต้ (SARI) เปิดเผยกับสำนักข่าว Nikkei ว่า ปัญหาดินเค็มส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมเป็นอย่างมาก ทำให้จำนวนผลผลิตลดลงได้มากถึง 15-20% ตามข้อมูลของหน่วยงานท้องถิ่นพบว่า 80% พื้นที่เพาะปลูกทางตอนใต้ของประเทศมีค่าความเค็มในดินสูง ส่วนฝั่งตะวันตกมีถึง 90% ที่พื้นที่เพาะปลูกมีความเค็มสูง 

ความเค็มในดินยังคงเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้นการเกษตรของอุซเบกิสถานจึงอยู่ในสถานะที่ “อันตรายมาก” 

จากการศึกษาในปี 2023 ในวารสาร Agriculture, Ecosystems and Environment  พบว่า 39% ของฝ้ายทั้งหมดของอุซเบกิสถานผลิตได้ ถูกส่งออกไปยังบังกลาเทศ แต่ในปัจจุบันบังกลาเทศเริ่มนำเข้าฝ้ายจากประเทศอื่นเพิ่มมากขึ้น เพราะอุซเบกิสถานผลิตฝ้ายได้ลดลง ข้อมูลการค้าจากสหประชาชาติแสดงให้เห็นว่าการส่งออกเส้นด้ายฝ้ายไปยังบังกลาเทศในปี 2017 มีมูลค่า 50 ล้านดอลลาร์ แต่ในปี 2022 มีมูลค่าลดลงเกือบ 82% เหลือเพียง 9.1 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

“บังกลาเทศอาจนำเข้าฝ้ายจากอุซเบกิสถานลดลง เนื่องจากพวกเขาได้รับข้อเสนอที่ดีกว่า โดยเฉพาะจากอินเดีย ที่สามารถซื้อขายสินค้าผ่านเงินรูปีได้เลย ยิ่งทำให้ซื้อขายง่าย ตอนนี้ธนาคารบังกลาเทศขาดเงินดอลลาร์อยู่” ซิฟาต อิสตี อาจารย์อาวุโสด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบราก ในบังกลาเทศ กล่าว

แม้ว่าจำนวนผลผลิตข้าวสาลีของอุซเบกิสถานจะไม่ได้มีมากเท่าฝ้าย แต่ข้าวสาลีก็เป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ นับแต่ปี 2559 ข้าวสาลีมากกว่า 37% ที่ผลิตได้ในอุซเบกิสถานถูกส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ทางตอนใต้อย่างอัฟกานิสถานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากพื้นที่เพาะข้าวสาลีในอุซเบกิสถานลดลงอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรอัฟกานิสถานด้วยเช่นกัน

 

“ดินเค็ม” ปัญหาที่ฝังรากลึกใน “อุซเบกิสถาน” 

อุซเบกิสถานเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และปัจจุบันมีแหล่งน้ำจืดเหลืออยู่ในประเทศไม่มากนัก ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องใช้น้ำที่ใช้แล้วจากระบบระบายน้ำซึ่งมีค่าความเค็มสูงมาใช้ในการเกษตร

ในอดีตรัฐบาลโซเวียตมีโครงการเปลี่ยนเส้นทางของแม่น้ำสองสายที่หล่อเลี้ยง “ทะเลอารัล” เพื่อสร้างการชลประทานให้พื้นที่ทะเลทราย ใช้สำหรับการทำการเกษตร โดยเฉพาะ “ฝ้าย” ที่สหภาพโซเวียตหมายมั่นว่าจะกลายเป็นสินค้าส่งออกหลัก และโครงการนี้ทำให้ประเทศอุซเบกิสถานกลายเป็นผู้ส่งออกฝ้ายที่ใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

แต่คลองหลายสายถูกสร้างไม่ดี ทำให้เกิดน้ำรั่ว และระเหยไปประมาณ 30-75% ปัญหานี้ยังทำให้ทะเลอารัลหดตัว จนในปัจจุบันแทบไม่เหลือน้ำในทะเลอารัลอีกแล้ว เมื่อน้ำทะเลระเหยไปหมดก็เหลือทิ้งไว้แต่ผลึกเกลือที่ทำให้ดินเค็มกลายเป็นปัญหาสะสมนานกว่า 60 ปี

แม้ว่าการจัดการน้ำที่ผิดพลาดในอดีตจะเป็นรากฐานของปัญหาดินเค็มของประเทศ แต่ในปัจจุบันปัญหาการขาดแคลนน้ำกำลังทวีความรุนแรงขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และข้อตกลงระหว่างประเทศที่ใช้น้ำในแม่น้ำร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน 

ตลอดจนเกษตรกรไม่มีความรู้เพียงพอในการรับมือกับปัญหาดินเค็ม จนทำให้พื้นที่เพาะปลูกต้องสูญเสียผลผลิตเพิ่มขึ้นทุกปี แม้ว่าภาครัฐจะดำเนินนโยบายเกษตรกรรมเชิงรุกเพื่อจัดการกับดินที่ได้รับผลกระทบจากเกลือ แสดงให้เห็นว่ารัฐไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับเกษตรในการแก้ปัญหาดังกล่าวเลย นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม จูเรฟ และเหล่าเกษตรจึงต้องขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญของ FAO 

 

สร้างความรู้การจัดการ “ดินเค็ม” ให้เกษตรกร

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลของ ชัฟแกต มีร์ซียอเยฟ ได้ออกนโยบายหลายอย่างเพื่อแก้ไขวิกฤติดินเค็ม แต่ส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขปัญหาลดต้นทุนการผลิต เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟลง มากกว่าจะหาทางเพิ่มผลผลิตพืชผลให้กับเกษตรกร 

“สิ่งที่ขาดหายไปคือ อบรมส่งเสริมความรู้ให้เกษตรกร เพราะพวกเขาต้องการคำแนะนำเพื่อลดช่องว่างระหว่างการวิจัย และการประยุกต์ใช้ในโลกแห่งความเป็นจริง” มาร์โก อาร์เชียรี ผู้แทนจาก FAO และประธานคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการชลประทาน และการระบายน้ำ 

ในตอนนี้ที่ศูนย์วิจัย SARI กำลังพัฒนาพันธุ์พืชที่ทนต่อดินเค็ม และการสอนแนวทางปฏิบัติในการฟื้นฟูแก่เกษตรกร เช่น การส่งเสริมการผลิตพืชแบบไม่ไถพรวน การปลูกพืชหมุนเวียน แม้ว่า จูเรฟ และเพื่อนร่วมงานพยายามเร่งแก้ไขปัญหาดินเค็มอย่างเต็มที่ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ผลมากนัก เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร

กระทรวงเกษตรของอุซเบกิสถานมีนโยบายจะมอบเงินอุดหนุน 45 ประเภท รวมถึงการจ่ายเงินสำหรับการอัปเกรดระบบชลประทาน และค่าไฟฟ้า เนื่องจากเกษตรกรจำเป็นต้องพึ่งพาเครื่องสูบน้ำที่ใช้พลังงานมากในการส่งน้ำไปยังทุ่งนาของตน แต่ จูเรฟ กล่าวว่า จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีเงินอุดหนุนที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาดินเค็มเลย

ทั้งที่เกษตรกรอุซเบกิสถานอยู่ในสถานะที่สามารถนำแนวทางปฏิบัติด้านการจัดการน้ำ และเทคนิคทางการเกษตรไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น การเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ทนต่อความเค็มได้

อย่างไรก็ตามเกษตรกรก็มักไม่ให้ความร่วมมือกับภาคเอกชน และหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ทีมงาน FAO จัดการสัมมนาเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ดินเค็มหลายครั้ง แต่มีเกษตรกรเพียงไม่กี่คนที่เข้าร่วมงาน กลายเป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเข้ามาแทนที่นั่งฟังแทน ขณะที่ จูเรฟ กล่าวว่า ชาวบ้านมักไม่ให้ความร่วมมือหรือสนใจในโครงการของเขาทั้งที่มาจากศูนย์วิจัยระดับภูมิภาค เพราะเกษตรกรมักจะฟังแต่คำแนะนำของเจ้าหน้าที่รัฐ

“ฟาร์มส่วนใหญ่ทำตามคำสั่ง และคำแนะนำของรัฐบาล พวกเขาไม่ค่อยมาหาพวกเราเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่”


ที่มา: Nikkei

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์