อาหารการกินที่ต้องระวังในช่วงหน้าร้อน

อาหารการกินที่ต้องระวังในช่วงหน้าร้อน

อาหารการกินที่ต้องระวังในช่วงหน้าร้อน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงหน้าร้อนแบบนี้ มีโรคภัยไข้เจ็บมากมายที่ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะอาการฮีตสโตรก ที่อันตรายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต และอีกสิ่งที่ต้องใส่ใจเพิ่มความระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษก็คือ เรื่องของอาหารการกิน เพราะอาหารบูดเสียได้ง่ายขึ้นจากความร้อน การกินอาหารแบบไม่ระวังเรื่องความสดความสะอาด อาจทำให้เกิดอาการป่วยที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร อย่างอาการอาหารเป็นพิษและท้องร่วง ซึ่งไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะถ้าอาการสาหัสมาก ๆ ก็ถึงขั้นเสียชีวิตได้เหมือนกัน หากพบว่าอาหารบูดเสีย ควรทิ้งทันทีไม่ต้องเสียดาย รวมถึงควรหลีกเลี่ยงเมนูอาหารเหล่านี้ด้วยในช่วงอากาศร้อนจัด ๆ

1. เมนูลาบ ยำ และส้มตำ

จริง ๆ แล้วอาหารเมนูลาบ ยำ และส้มตำเนี่ย แทบจะเรียกว่าเป็นเมนูอาหารประจำชาติของบ้านเราเลยก็ได้ กินได้ไม่มีเบื่อ อร่อยได้ทุกฤดู ด้วยความที่เป็นอาหารรสจัด เน้นรสเปรี้ยว แซ่บ เผ็ดจัดจ้าน แต่ในช่วงหน้าร้อน อาหารประเภทนี้อาจจะเสาะท้องได้ ก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องของวัตถุดิบและกระบวนการปรุง ที่ถ้าไม่สะอาด ไม่สุก ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น กุ้ง ปู ปลาหมึก รวมไปถึงปลาร้า ที่อาจมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนอยู่ จะทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ แต่ถ้าทำกินเอง เลือกหาวัตถุดิบเอง และมั่นใจว่าของสดสะอาด อันนี้ก็ไว้ใจได้

2. เมนูที่ใส่กะทิหรือมะพร้าว

กะทิ คือวัตถุดิบสำคัญในอาหารไทยหลายเมนู ทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน อย่างไรก็ตาม กะทิก็เป็นวัตถุดิบชนิดหนึ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษในช่วงหน้าร้อน อากาศที่ร้อนจะไปเร่งปฏิกิริยาให้กะทิบูดเสียเร็วมาก จึงควรเก็บในตู้เย็นทันทีที่อาหารหายร้อน หรือถ้ากินไม่หมด ก็ต้องรีบนำเข้าตู้เย็น ถ้าจะกินค่อยนำมาอุ่นใหม่ ทางที่ดีที่สุด ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ใส่กะทิและถูกทิ้งไว้ข้ามคืน ส่วนมะพร้าว มักใช้เป็นส่วนประกอบในการตกแต่งหน้าขนมไทย ใครที่อยู่ในแวดวงทำขนมก็จะทราบดีว่ามะพร้าวมีกลิ่นง่ายมาก ไม่ทันไรก็จะมีรสชาติออกเปรี้ยว ๆ ด้วย จึงควรหลีกเลี่ยง

3. อาหารทะเล

อาหารทะเล อย่างกุ้ง ปู ปลา ปลาหมึก หอย เมนูโปรดของใครหลายคน ทำพิษให้กับท้องไส้ของคนกินมานักต่อนักแล้ว ขนาดว่าปรุงสุกก็ยังไม่รอด เพราะบ่อยครั้งได้อาหารทะเลที่ไม่สดมาทำ เพราะฉะนั้น เมนูสุก ๆ ดิบ ๆ นี่ต้องหลีกเลี่ยงไปก่อนเลยในช่วงหน้าร้อน ถ้าไปพักผ่อนที่ทะเลในช่วงฤดูร้อนแล้วอยากกินอาหารทะเลจริง ๆ (ไปถึงที่แล้วจะไม่กินก็คงยาก) ก็ควรเลือกเมนูที่ปรุงสุกแล้ว จะต้ม นึ่ง ปิ้ง ย่าง ก็ตามสะดวก เอาตามที่ชอบ เพื่อลดความเสี่ยงจากการป่วยด้วยอาการอาหารเป็นพิษ และขอย้ำว่าอย่าเสี่ยง เพราะอาการอาหารเป็นพิษเพราะอาหารทะเลนี่ทรมานมาก

4. ของหมักของดอง

การหมักดอง จริง ๆ เป็นภูมิปัญญาในการถนอมอาหาร ปกติแล้วอาหารชนิดนี้จะมีรสชาติเปรี้ยวนำเป็นเอกลักษณ์ อีกทั้งตัวชูโรงของอาหารหมักดองก็คือจุลินทรีย์ชนิดดีที่เรียกกันว่า โปรไบโอติกส์ ที่ช่วยเรื่องระบบขับถ่าย แต่ในช่วงหน้าร้อน เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง เพราะจากที่จะช่วยเรื่องการขับถ่าย อาจกลายเป็นท้องเสียเอาซะได้ หากเมนูหมักดองอย่างผลไม้ดอง กะปิ แหนม ปลาร้า หรือพวกทะเลดองทั้งหลายตามท้องตลาด ที่เป็นเมนูที่ใครหลายคนชื่นชอบ หมักดองแบบไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่สะอาด ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะท้องร่วงได้ นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้รับพยาธิตัวตืด และสารพิษที่มีชื่อว่า ไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย เพราะอากาศร้อน จะทำเชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี

5. ซูชิ

ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่าซูชิที่ขายกันในบ้านเรานั้นมีหลายเกรด มีทั้งเกรดร้านอาหารและเกรดตลาดนัดที่ราคาชิ้นละ 5-10 บาท หลายคนนิยมซื้อกินเพราะราคาย่อมเยาเข้าถึงได้ มีให้เลือกหลายหน้าหลายรสชาติ หลายร้านสามารถรังสรรค์ให้ซูชิชิ้นละ 5 บาท 10 บาท ดูน่ากินเหมือนของแพง ๆ เลยทีเดียว แต่ถึงจะน่ากินแค่ไหน หน้าร้อนแบบนี้ก็ต้องใส่ใจเป็นพิเศษกับเรื่องของความสะอาดและถูกสุขอนามัย เพราะถ้าแจ็กพอตไปเจอร้านที่ละเลยเรื่องความสะอาดเข้าให้ล่ะก็ อร่อยไม่ออกเลย กินเข้าไปแล้วมีอาการป่วยด้วยอาหารเป็นพิษ ต้องวิ่งเข้าห้องน้ำ ต้องหามไปโรงพยาบาล ด้วยตัวซูชิแต่ละหน้าที่ทำค้างเอาไว้ระหว่างรอขายออก ไหนจะปนเปื้อนกับแบคทีเรียในอากาศอีก ต้องเลือกร้านดี ๆ

6. อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ

ถ้าอ้างอิงกันตามหลักสุขอนามัยของอาหารแล้ว ปกติแล้ว อาหารที่ปรุงแบบกึ่งสุกกึ่งดิบก็เป็นอาหารประเภทที่ไม่แนะนำให้กินอยู่แล้ว เพราะเสี่ยงมากที่จะได้รับเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมาจากการที่อาหารไม่ผ่านความร้อน หรือได้รับความร้อนไม่มากพอ ดีไม่ดีเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุกอาจมีตัวอ่อนของพยาธิติดมาก็ได้ แล้วยิ่งถ้าปรุงแบบไม่สะอาด วัตถุดิบไม่สด โอกาสเสี่ยงที่จะอาหารเป็นพิษมีอยู่สูงมาก เพราะฉะนั้น ในช่วงหน้าร้อนก็ควรงด (จริง ๆ ควรเลิก) กินอาหารที่ปรุงแบบกึ่งสุกกึ่งดิบไปก่อนจะดีที่สุด รู้ว่าอร่อย แต่ผลลัพธ์เลวร้ายอาจไม่คุ้มกัน

7. อาหารที่ปรุงทิ้งไว้นานแล้ว

แม้ว่าจะเป็นเมนูที่ปรุงสุกแล้ว แต่ถ้าทำทิ้งเอาไว้ในสภาพอากาศที่ร้อนระอุขนาดนี้นานเกินไป ก็จะทำให้คุณภาพของอาหารลดลง อาหารเน่าเสียเร็วยิ่งขึ้น เพราะเชื้อแบคทีเรียจะเจริญเติบโตเร็วมาก ทั้งแบคทีเรียที่อยู่ในอากาศแล้วตกลงไปบนอาหาร หรือเชื้อโรคที่ติดมากับแมลงวันที่มาตอมอาหาร ดังนั้น การกินอาหารที่ถูกปรุงทิ้งไว้นานแล้วโดยไม่มีการเอาเข้าตู้เย็นแล้วนำไปอุ่นซ้ำ ก็อาจจะทำให้เราท้องร่วงได้เหมือนกัน อย่างพวกสตรีตฟู้ดหรือข้าวราดแกงต่าง ๆ ที่มีการตักการควานการคนอยู่ตลอดเวลา ก็อาจทำให้อาหารเสียได้เหมือนกัน เช่นเดียวกันกับอาหารในซูเปอร์มาร์เก็ตที่นำมาขายลดราคา อาจสบายใจได้หน่อยเพราะขายอยู่ในที่ปิด แต่ก็ต้องพิจารณาให้ดีก่อนซื้อ

8. อาหารกระป๋อง

อาหารกระป๋องเป็นอาหารที่ผ่านกระบวนการให้สามารถเก็บได้นาน แต่มันก็มีช่วงเวลาที่พอดีของมัน ยิ่งช่วงหน้าร้อนก็ยิ่งต้องใส่ใจ เพราะเชื้อจุลินทรีย์ยิ่งเจริญเติบโตได้ดี เลือกอาหารกระป๋องที่ระบุวันหมดอายุชัดเจน เลือกกระป๋องที่อยู่ในสภาพดี ควรสังเกตดี ๆ ก่อนซื้อ หากกระป๋องบุบหรือบู้บี้ผิดรูปยิ่งต้องหลีกเลี่ยง ซื้อไปกินอาหารท้องร่วงได้ นอกจากนี้ อาหารกระป๋องที่เปิดแล้วกินไม่หมดไม่ควรเก็บไว้นาน และควรนำออกจากกระป๋องมาใส่ภาชนะดี ๆ เอาไปอุ่น แล้วรีบกินให้หมดจะดีที่สุด

9. น้ำแข็ง

อากาศร้อนขนาดนี้ ใคร ๆ ก็เพรียกหาน้ำแข็ง แต่จะบอกว่าแม้แต่น้ำแข็งก็ไม่อาจจะกินซี้ซั้วได้ ท้องร่วงท้องเสีย อาหารเป็นพิษกันมาตั้งเท่าไรแล้ว นี่ไม่ใช่คำขู่ เพราะน้ำแข็งที่ไม่สะอาดจะปนเปื้อนเชื้อโรคและสิ่งสกปรกเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำแข็งแบบก้อนหรือแบบไสป่นก็ตาม และบอกเลยว่าน้ำแข็งเป็นอาหารที่หาสะอาด ๆ กินค่อนข้างยาก เพราะกระบวนการผลิตมันทำกันได้ง่าย ๆ ไม่ได้มาตรฐาน ตั้งแต่น้ำที่นำมาใช้ เครื่องมือในการทำน้ำแข็ง รวมถึงขั้นตอนการขนส่ง บ่อยครั้งที่เราอาจสังเกตเห็นได้เองกับตาว่ามันสกปรกมาก จึงต้องหลีกเลี่ยงการกินน้ำแข็งจากแหล่งผลิตเหล่านั้น เป็นไปได้ก็ทำกินเองก็ได้ ถ้ามีตู้เย็น ก็สามารถทำน้ำแข็งกินเองได้ง่ายมาก ๆ ดีกว่าเสี่ยงเป็นโรค

นอกจากเมนูอาหารทั้ง 9 อย่างข้างต้นแล้ว ยังมีอาหารแสลงอื่น ๆ อีกที่ควรหลีกเลี่ยงในช่วงหน้าร้อนอีก ดังนี้

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด แอลกอฮอล์ที่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็วจะทำให้ความดันโลหิตให้สูงขึ้น ทำให้หลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัว ร่างกายจะสูญเสียน้ำ เกลือแร่ ทั้งทางเหงื่อและทางปัสสาวะ อาจส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำรุนแรงจนช็อกหมดสติ และอาจมีโอกาสเสียชีวิตได้
  • คาเฟอีน มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ซึ่งจะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ เมื่อร่างกายขาดน้ำเราจะรู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลีย นอกจากนี้ฤทธิ์ของคาเฟอีน คือกระตุ้นให้ประสาทตื่นตัว ทำให้เกิดอาการกระวนกระวาย ใจสั่น โดยเฉพาะสำหรับคนที่ต้องออกไปอยู่กลางแจ้ง เจอแดดร้อน ๆ ดังนั้น จึงควรงดดื่มกาแฟในวันที่ต้องอยู่กลางแจ้ง แต่ถ้างดไม่ได้ ต้องดื่มน้ำเปล่าตามเข้าไปด้วย
  • อาหารเค็มจัด สามารถทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ เพราะไตจะทำงานหนัก ซึ่งปกติในช่วงที่อากาศร้อนมาก ๆ ไตของเราจะทำงานหนักขึ้นเพื่อสงวนน้ำไว้ในร่างกาย จะได้ไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ และขับเหงื่อดับร้อน จึงไม่ควรเพิ่มภาระให้ไตด้วยการกินอาหารเค็มจัดซ้ำลงไป
  • อาหารน้ำตาลสูง กระบวนการเผาผลาญน้ำตาลในร่างกายของเราทำให้ร่างกายเราร้อนขึ้น จึงควรระวังอาหารที่น้ำตาลสูง ๆ ซึ่งหมายรวมถึงผลไม้หวาน ๆ อย่าง ทุเรียน ละมุด ขนุน ลำไย ด้วย กินได้แต่ไม่ควรกินมากจนเกินไป เพราะในผลไม้เหล่านี้มีน้ำตาลฟรุกโตส ซึ่งมีส่วนในการสร้างอนุมูลอิสระและไขมันในร่างกาย นอกจากนี้ผลไม้พวกนี้ยังมีฤทธิ์ร้อน กินมาก ๆ น้ำตาลในเลือดสูง และทำให้เป็นร้อนในด้วย
  • อาหารไขมันสูง ของทอด ของมัน อาหารที่ประกอบไปด้วยไขมันจะทำให้ร่างกายร้อนขึ้น รู้สึกหนัก ๆ และไม่สบายตัว นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดอาการอักเสบ และส่งผลกระทบต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจได้ในระยะยาว

สิ่งสำคัญที่สุดในการระมัดระวังเรื่องอาหารการกินในช่วงหน้าร้อน ขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารที่สะอาด ถูกสุขอนามัย ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน หลีกเลี่ยงอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารที่ค้างคืนที่ไม่ได้เก็บอย่างถูกวิธี ซึ่งควรเก็บใส่ภาชนะที่ปิดมิดชิดและเก็บไว้ในตู้เย็นที่ความเย็นทั่วถึง ก่อนนำมากินควรอุ่นร้อนทุกครั้ง หากอาหารมีรูปร่างหรือกลิ่นผิดปกติก็ไม่ควรรับประทาน อย่าเสียดาย เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพของตัวเราเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook