Buena Vista Social Club แด่ความยิ่งใหญ่ของดนตรีคิวบา

Buena Vista Social Club แด่ความยิ่งใหญ่ของดนตรีคิวบาที่ถูกปลุกขึ้นมาผ่านฟอร์มหนังและอัลบั้มเพลง

by Nattha.C
8 views
Buena Vista Social Club 1999

Buena Vista Social Club คือภาพยนตร์สารคดีที่ฉายในปี 1999 ว่าด้วยประวัติศาสตร์ทางศิลปะวัฒนธรรมซึ่งเต็มไปด้วยชีวิต จิตวิญญาณ และความหวังของประชาชนคนคิวบา ผ่านมุมมองของผู้กำกับ วิม เวนเดอร์ส (Wim Wenders) ร่วมกับยอดศิลปิน ไร คูเดอร์ (Ry Cooder) ผู้ออกตามหาบทเพลงแห่งยุคสมัยจากเศษเสี้ยวของกาลเวลา เพื่อรื้อฟื้นกลับมาให้เป็นที่ถูกกล่าวขานอีกครั้ง

ทันทีที่ Doc Club & Pub. ประกาศว่าจะนำเรื่องนี้กลับมาฉายในธีมเทศกาลหนังเวนเดอร์สเมื่อเดือนเมษายน ถัดจากครั้งแรกเมื่อตอนเดือนกุมภาพันธ์ ประกอบกับการได้อ่านบทสัมภาษณ์คร่าว ๆ ของเวนเดอร์สถึงคูเดอร์บนเว็บไซต์ UNCUT ที่พูดถึงหนังเรื่องนี้เอาไว้ เราก็ไม่พลาดที่จะจองตั๋วรอบ 19.25 น. ถึงวันนั้นจะทุลักทุเล กลัวเข้าโรงไม่ทัน แต่สุดท้ายก็ไปถึงก่อนเวลาจริงตั้งสิบนาที! บอกเลยว่านี่คือหนึ่งในหนังที่คนรักดนตรีห้ามพลาด

Buena Vista Social Club
Buena Vista Social Club (1999)

เนื้อเรื่องช่วงต้นเปิดด้วย คอมเปย์ เซย์กุนโด (Compay Segundo) ศิลปินวัยเลขเก้าที่สอบถามชาวบ้านเกี่ยวกับ “บัวนา วิสตา โซเชียลคลับ” สถานที่ที่เคยรุ่งเรืองในช่วงยุค 1940s ถึง 1960s ทั้งคำบอกเล่าของหญิงสาววัยกลางคนว่าเธอเคยออกไปสังสรรค์และเต้นรำพร้อมเพื่อนฝูง กระทั่งเสียงของผู้คนที่เคยอยู่ในละแวกนั้น ก่อนมันจะถูกปิดตัวลงและกลายเป็นแหล่งที่พักอาศัย ถัดมาเป็นภาพของคูเดอร์และลูกชาย ที่กำลังขับมอเตอร์ไซค์มุ่งหน้าไปสตูดิโอใจกลางเมืองฮาวาน่า แต่เป้าหมายหลักของคูเดอร์ ไม่ใช่แค่การสร้างผลงานอันทรงคุณค่าสู่ตลาดโลกเท่านั้น ตรงกันข้าม สิ่งที่เขาได้ค้นพบระหว่างทางคือ มิตรภาพและความสัมพันธ์ที่มีต่อประเทศนี้

“ผมเคยพยายามออกตามหาศิลปินผู้อยู่เบื้องหลังเทปคาสเซ็ตที่ผมเคยฟังตอนหนุ่ม ๆ” คูเดอร์เล่าย้อนถึงสมัยที่เขาและภรรยาเดินทางมาฮาวาน่าเมื่อช่วงปี 70s แต่เขาต้องล้มเลิกกลางคัน เพราะมันค่อนข้างยากในแง่ที่เจ้าตัวก็ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าศิลปินเหล่านี้ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ หากยังมีชีวิตอยู่ พวกเขาอาศัยหรือทำการแสดงสดที่ไหนบ้าง จนกระทั่งในปี 1996 คูเดอร์ก็ได้สานต่อโปรเจกต์นี้อีกรอบจากคำเชิญและการร่วมมือของ นิค โกล์ด (Nick Gold) โปรดิวเซอร์ชาวอังกฤษ อดีตผู้ก่อตั้งค่ายเพลง World Circuit Records เขาและลูกชายบินตรงจากสหรัฐอเมริกามายังคิวบาเพื่อบันทึกเสียงทั้งหมด ก่อนมันจะไปถึงหู วิม เวนเดอร์ส ในอีกหนึ่งปีถัดมา

สิ่งแรกที่ทำให้เรารักหนังเรื่องนี้คือธรรมชาติของการดำเนินพล็อตที่บรรยายผ่านตัวสมาชิกในแบบที่เราสามารถสัมผัสได้ถึงความเป็นมนุษย์มาก ๆ จากความสามัญธรรมดาที่พวกเขาแสดงออกมาอย่างถ่อมตน จริงใจ และเปี่ยมพลังแม้ในวันที่ไร้หมวก “ศิลปิน” ถึงบางคนไม่ได้เติบโตมาในครอบครัวนักดนตรี แต่ความรักที่มีต่อเสียงเพลงก็ได้พาพวกเขามาไกลเกินกว่าที่คิด เฉกเช่นการได้กลับมารวมตัวเพื่อร้องรำทำเพลงกับเพื่อนเก่า ไปจนถึงการได้เดินทางไปแสดงคอนเสิร์ตที่นิวยอร์กและอัมสเตอร์ดัมในปี 1998

Buena Vista Social Club

สองคือเทคนิคการจับภาพ แสงสี และสภาพแวดล้อมอย่างเรียบง่ายของ Jörg Widmer และ ร็อบบี้ มึลเลอร์ (Robby Müller) หรือ Cinematographer ที่เคยร่วมงานกับเวนเดอร์สในผลงานเรื่องก่อนหน้าอย่าง Paris, Texas (1984) ที่พอผสมกับมนต์เสน่ห์ในด้านการสื่อสารผ่านสถานที่และผู้คนที่มักไม่ค่อยมีใครพูดถึง ซึ่งเป็นสไตล์หรือจุดแข็งของตัวไดเร็กเตอร์แล้ว ยิ่งทำให้หนังมีมิติและสีสันในลักษณะที่ไม่ต้องแต่งเติมอะไรเยอะ

หรืออย่างเพลงที่เล่นคลอพร้อมตัดสลับบทสัมภาษณ์ในช่วงเวลาทั่วไปจนถึงฉากก้าวขึ้นเวทีอย่างสง่างาม ท่ามกลางเสียงร้องที่เล่นล้อกับจังหวะเชื้อเชิญให้ส่ายสะโพก บ้างก็รำพึงรำพันอย่างอ่อนหวานทว่าขื่นขม ก็ได้สร้างความประทับใจแก่ผู้ชมทั้งในและนอกจอ โดยพาร์ทดนตรีทั้งหมดที่ถูกบรรเลงคือดนตรีคิวบาดั้งเดิมที่เคยเป็นที่นิยมในแทบละตินอเมริกาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18-19 เช่น Son Cubano, Bolero, Guajira และ Danzón ที่นำมาพัฒนาเป็นเพลง Salsa หรือ Cha-cha-chá สไตล์ที่ทุกคนชอบเรียกติดปากว่าจังหวะ “ชะชะช่า” นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งคีย์หลักที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังการปฏิวัติประเทศ การคว่ำบาตร และการล่มสลายของสหภาพโซเวียตที่ส่งให้เศรษฐกิจสั่นคลอน จนประชาชนต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อดำรงชีวิตต่อไปภายในประเทศที่ขึ้นชื่อว่า “ไข่มุกเม็ดงามแห่งแดนใต้” เช่นเดียวกับเมืองฮาวาน่าที่เป็นดั่งสรวงสวรรค์ของชาวต่างชาติ แต่กลับกลายเป็นขุมนรกของคนในประเทศ ไม่ต่างอะไรกับนักดนตรีที่ต้องวางมือจากสิ่งที่ตนรัก ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ถ่ายทอดออกมาในบรรยากาศที่ไม่ถึงกับเศร้าหมองได้อย่างอบอุ่นและเอ่อล้นมากจริง ๆ

แม้ปัจจุบัน นักดนตรีชาวคิวบาหลายคนที่ปรากฏอยู่ในสารคดีความยาว 1 ชั่วโมง 45 นาทีชุดนี้จะได้จากโลกของเราไปแล้ว แต่การมีอยู่ของภาพยนตร์และผลงานเพลงชื่อเดียวกันก็ได้ตอกย้ำว่า ความยิ่งใหญ่ของพวกเขาในโลกดนตรียังคงสร้างแรงบันดาลใจและขับเคลื่อนให้ผู้คนเดินหน้าต่อไป หากใครสนใจชมก็รอติดตามว่าทาง Doc Club & Pub. จะนำกลับมาฉายอีกทีเมื่อไหร่ ยังไงระหว่างนี้เราขอฝากหนังที่เกี่ยวกับประเทศคิวบาให้ไปดูกันเพลิน ๆ อีกสองเรื่องด้วยอย่าง Salut les Cubains ของอานเญส วาร์ดา (Agnès Varda) และ Soy Cuba จากมิคาอิล คาลาโตซอฟ (Mikhail Kalatozov)

อ่านต่อ Ryuichi Sakamoto | Opus นมัสการสุดท้ายขอมอบให้ทุกคนที่ยังรักในเสียงดนตรี

Buena Vista Social Club
+ posts

แบม นักเขียนน้องเล็กที่ชอบอ่านหนังสือและฟังเพลงในเวลาเดียวกัน อดีตเพจ Listenist

Related Articles

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More

Privacy & Cookies Policy