จับตา ศธ.แก้โจทย์หิน คะแนนโอเน็ตต่ำ…ซ้ำซาก!

ไม่ผิดความคาดหมาย หลังเห็นค่าสถิติ คะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ตที่ออกมาล่าสุด ซึ่งสแกนด้วยสายตาคร่าวๆ เรียกได้ว่า ตกทุกวิชา ผ่านคาบเส้นเพียง ภาษาไทย ซึ่งเฉพาะ ป.6 ม.3 เกินครึ่งไปไม่เท่าไร ส่วน ม.6 สอบตกทุกวิชา…

โดยในส่วนของผลสอบโอเน็ต ป.6 วิชาภาษาไทย เฉลี่ย 57.30 สูงสุด 100 ต่ำสุด 0, ภาษาอังกฤษ เฉลี่ย 37.32 สูงสุด 100 ต่ำสุด 0, คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 29.96 สูงสุด 100 ต่ำสุด 0, วิทยาศาสตร์ เฉลี่ย 40.75 สูงสุด 100 ต่ำสุด 0

ม.3 สอบ 4 วิชา ภาษาไทย เฉลี่ย 50.73 สูงสุด 96.39 ต่ำสุด 0, ภาษาอังกฤษ เฉลี่ย 31.76 สูงสุด 100 ต่ำสุด 0, คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 25.38 สูงสุด 100 ต่ำสุด 0, วิทยาศาสตร์ เฉลี่ย 30 สูงสุด 98 ต่ำสุด 0

และ ม.6 สอบ 5 วิชา ภาษาไทย เฉลี่ย 40.78 สูงสุด 88.80 ต่ำสุด 0, สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เฉลี่ย 33.09 สูงสุด 82.75 ต่ำสุด 0, ภาษาอังกฤษ เฉลี่ย 26.19 สูงสุด 100 ต่ำสุด 0, คณิตศาสตร์เฉลี่ย 19.96 สูงสุด 100 ต่ำสุด 0 และวิทยาศาสตร์ เฉลี่ย 29.09 สูงสุด 95.20 ต่ำสุด 0

 

งานนี้ ‘ครูเอ’ สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เห็นตัวเลขดังกล่าวแล้ว และยอมรับว่า ผลคะแนนที่ต่ำลงค่อนข้างมาก เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข โดยเตรียมหารือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สทศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์ หาสาเหตุ และปัจจัยที่ทำให้คะแนนต่ำลง โดยจะต้องดูองค์ประกอบภาพรวมทั้งหมด รวมถึงความผันแปรในส่วนต่างๆ อย่างละเอียด เพื่อวางแนวทางแก้ไขปัญหาในเชิงระบบต่อไป…

การให้เด็กเลือกสอบตามความสมัครใจ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คะแนนต่ำลง เด็กบางคนไม่ตั้งใจสอบ และมีจำนวนมากที่ลงทะเบียนไว้ แล้วไม่มาสอบ ทำให้เกิดการความเสียหาย โดยเฉพาะงบประมาณที่ได้มีการเตรียมการไว้แล้ว สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะผลสอบไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งในการเลื่อนชั้นเรียน หรือการเข้าเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษา

ดังนั้น เท่าที่ดูแนวโน้มก็อยากให้กลับไปสอบทุกคน แต่ก็คงต้องดูวิเคราะห์ภาพรวมว่า หากจะให้กลับไปสอบทุกคนแล้ว จะกลายเป็นการเพิ่มภาระเด็กและครูหรือไม่ และหากจะกลับไปให้เด็กสอบโอเน็ตทุกคนจริง ก็ต้องบอกให้ได้ว่า การดำเนินการดังกล่าวจะเกิดประโยชน์ต่อตัวเด็ก และการพัฒนาการเรียนการสอนอย่างไร

แต่ที่สำคัญจะต้องไม่กระทบและทำให้เป็นภาระกับเด็ก ครูและผู้ปกครอง

“ส่วนตัวผมเห็นคะแนนโอเน็ตแล้วไม่กังวลเท่าไร เพราะคะแนนส่วนอื่นเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ต้องเร่งแก้ไข เพราะคะแนนที่ออกมายังไม่ใช่ 100% โดยยอมรับว่า เด็กไม่ได้ตั้งใจสอบโอเน็ตมากเท่าไร เพราะไม่มีการนำคะแนนไปใช้ประโยชน์ ทั้งที่ความจริงแล้วโอเน็ตมีประโยชน์ในการพัฒนาการจัดการศึกษาอย่างมาก แต่พอไม่นำไปใช้ประโยชน์ ก็จะทำให้เด็กไม่ตั้งใจ ดังนั้น อาจจะต้องหาวิธีและแนวทางที่เหมาะสม ไม่ให้ตึงหรือหย่อนเกิน ที่สำคัญต้องไม่เป็นภาระเด็ก ครูและผู้ปกครอง” นายสุรศักดิ์กล่าว

 

ขณะที่นักวิชาการด้านการศึกษา อย่าง นายสมพงษ์ จิตระดับ มองคล้ายกันว่า ภาพรวมคะแนนโอเน็ตปีไม่ดีขึ้น เป็นไปในทิศทางที่แย่กว่าเดิม และถ้าดูในชุดรวมคะแนนสอบระดับชาติ และคะแนนการประเมินผลนักเรียนระหว่างประเทศ หรือ PISA จะพบว่า คุณภาพการศึกษาไทยไม่ได้ดีขึ้นเท่าที่ควร เป็นตัวบ่งชี้ว่า คุณภาพการศึกษาซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข เป็นวังวนปัญหาเดิม

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องผลสอบระดับชาติ หลักสูตร เป็นเรื่องสำคัญ แต่ได้รับการแก้ไขในระดับที่ต่ำมาก โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ รวมถึงการแข่งขันในระดับนานาชาติ และอาจส่งผลให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักความยากจนได้ยาก

“วันนี้ควรต้องเริ่มตั้งคำถามแล้วว่า คนที่เข้ามาบริหารประเทศ และบริหาร ศธ. คิดจะพัฒนาการศึกษาให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศหรือไม่ และทำไมถึงปล่อยให้การศึกษาแย่ลง ผลิตคนที่มีคุณภาพต่ำออกมาป้อนตลาดแรงงาน โดยเท่าที่ดู พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ก็พยายามจะแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ส่วนใหญ่จะไปเน้นเรื่องลดภาระครู ซึ่งส่งผลทางการเมือง ได้คะแนนเสียงมากกว่า ยังไม่เห็นการแก้ปัญหาที่ส่งผลต่อคุณภาพเด็ก ที่บอกแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า การที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ. แก้ปัญหาเรื่องลดภาระครู เป็นเรื่องไม่ดี แต่อยากให้เข้ามาดูแลคุณภาพเด็กเพิ่มมากขึ้น เริ่มตั้งแต่เปิดเทอมนี้ควรจะตั้งเป้าการพัฒนา โดยประกาศให้ชัดเจนว่า เมื่อลดภาระครู ลดภาระงานเอกสาร จัดจ้างภารโรงแล้ว ก็ควรให้ครูกำหนดทิศทาง พัฒนาการเรียนการสอนที่ชัดเจนด้วย เป็นโอกาสที่จะทำสงครามกับความไม่รู้ ความล้าหลังและพัฒนาการจัดการศึกษาของประเทศ” นายสมพงษ์กล่าว

ส่วนการที่ให้การสอบโอเน็ตเป็นไปตามความสมัครใจ ไม่บังคับและไม่มีการนำผลสอบไปใช้ หรือให้มีผลต่อการเข้าเรียนต่อนั้น จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กไม่ตั้งใจสอบ ส่งผลให้คะแนนต่ำลงด้วยหรือไม่นั้น ก็อาจเป็นส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังมีโรงเรียนติวสอบโอเน็ตให้เด็ก เพราะฉะนั้น การที่คะแนนโอเน็ตต่ำ ยังสามารถสะท้อนคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำลงด้วย

โดยเฉพาะหลักสูตรและการเรียนการสอน ที่ขัดแย้งกับการทดสอบ ทั้งการทดสอบโอเน็ต การสอบ PISA ที่เน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์ แต่กระบวนการเรียนรู้ยังเน้นท่องจำ เรียนเพื่อสอบ ไม่ได้เรียนเพื่อใช้ ถือเป็นประเด็นใหญ่ของประเทศที่ต้องเร่งปรับปรุงหลักสูตร การเรียนการสอน และการวัดประเมินผลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

จากนี้คงต้องจับตา ศธ. จะแก้ปัญหาคะแนนโอเน็ตต่ำไปในทิศทางใด เพื่อให้การสอบเกิดประโยชน์และคุ้มค่า ที่สำคัญต้องไม่เป็นภาระ ทำให้เกิดความเครียดทั้งเด็กและครู… •

 

| การศึกษา